คำสั่งซื้อขายแต่ละแบบของตลาดคริปโต ทำงานอย่างไร?

โดย PercenTrades
20 มิ.ย. 2021

การทำ Arbitrage คือการลงมือทำกำไรเมื่อมีส่วนต่างของราคาระหว่าง 2 ตลาด (ค่าพรีเมียม) ขึ้นไปสูง ในขณะเดียวกันก็ต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อที่เราจะทำกำไรจากส่วนต่างให้ได้มากที่สุด การที่เราจะทำแบบนั้นได้ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการซื้อ การขาย และการโอนเหรียญกันอยู่ตลอดเวลาไม่ต่างกับนักลงทุนประเภทอื่น ๆ

ไม่ว่าคุณจะเป็นสายเทรด Spot ทั่วไป หรือสายทำ Arbitrage ต่างก็ต้องมีแผนในการเข้าซื้อ/ขายเหมือนกัน และจะต้องพยายามทำตามแผนให้ได้มากที่สุดด้วย เพื่อที่กำไรสุทธิในตอนจบจะได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง และจะดียิ่งขึ้นถ้าเราซื้อได้ถูกกว่าและขายได้แพงกว่า 😍

วันนี้เราจะมาชำแหละในทุกรายละเอียด ว่าการส่งคำสั่งซื้อขายแต่ละแบบเป็นอย่างไร และเมื่อเข้าใจดีแล้ว 🎓 เราสามารถนำความเข้าใจนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ทั้งการตัดขาดทุน (Cut loss) การล็อกกำไร (Take profit) การซื้อตามน้ำ (Follow buy) และนำไปประยุกต์กันได้อีกมากมาย

ว่าแล้วก็ไปดูกันแต่ละแบบเลยครับ มีทั้งหมด 8 รูปแบบ (การซื้อ 4 แบบและการขาย 4 แบบ)




Buy | Limit
การตั้งซื้อราคาที่อยากได้ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน

Buy limit order in Binance screenshot

จากตัวอย่าง ราคาล่าสุดอยู่ที่ 337.35 USDT

เราต้องการซื้อ BNB จำนวน 10 เหรียญที่ราคา 332 USDT แปลว่าเราต้องไปต่อแถวรอคนมาขายให้ที่ราคานี้เท่านั้น ไม่ลงมาเท่านี้เราไม่ซื้อ




Buy | Market
การกว้านซื้อเพื่อให้ได้เหรียญตามจำนวนที่ต้องการทันที

Buy market order in Binance screenshot

จากตัวอย่าง ราคาล่าสุดอยู่ที่ 334.50 USDT

เราต้องการซื้อ BNB 10 เหรียญโดยไม่สนใจราคา จึงไม่มีช่องราคาให้เรากรอกเลยด้วยซ้ำ

ถ้ากดซื้อเราก็จะได้ครบ 10 BNB ทันที โดยต้นทุนจนเก็บครบจำนวนจะเป็น

ราคา 334.50 USDT x 1.0600 เหรียญ
ราคา 334.54 USDT x 1.0363 เหรียญ
ราคา 334.55 USDT x 1.5697 เหรียญ
ราคา 334.56 USDT x 2.9897 เหรียญ
ราคา 334.57 USDT x 3.3443 เหรียญ

สรุปเป็นต้นทุนเฉลี่ย 334.55 USDT จำนวน 10 เหรียญ ซึ่งอาจจะได้มาถูกกว่าหรือแพงกว่านี้ก็ได้ อยู่ที่ความห่างของราคาแต่ละราคา และจำนวนเหรียญที่ขายแต่ละราคา ณ วินาทีที่กด ซึ่งต้องระวังมาก ๆ เพราะถ้าราคาคนเสนอขายแต่ละราคาห่างกันมาก ๆ และมีจำนวนไม่พอจำนวนของเรา เราก็ต้องซื้อได้ราคาที่แพงไปมาก ๆ จนกว่าจะได้ของครบตามจำนวน 😱

แบบนี้ก็คือการ "เคาะขวา" ในภาษาคนเล่นหุ้นนั่นเอง




Buy | Stop-limit
การตั้งรอซื้อเมื่อราคาขึ้นไปถึงที่กำหนดไว้

Buy stop-limit order in Binance screenshot

จากตัวอย่าง ราคาล่าสุดอยู่ที่ 334.81 USDT

เราต้องการซื้อ BNB ที่ราคา 341 USDT (ช่อง Limit) ถ้าราคาทะลุ 340 USDT ขึ้นมา (ช่อง Stop) โดยไม่ต้องนั่งเฝ้ารอกดซื้อเอง

ถ้าเรากดซื้อแบบ Limit ธรรมดาที่ 341 USDT เราก็จะได้เหรียญเลยทันที เพราะราคาที่ส่งมันสูงกว่าราคาขายของคนแรกที่ราคา 334.82 USDT แต่เรายังไม่ได้อยากได้ในตอนนี้

สมมติว่าเราตีเส้นไว้แล้วว่าถ้าราคาทะลุ 340 USDT เมื่อไหร่ก็จะเปลี่ยนเป็นขาขึ้น และเรายอมซื้อก็ได้ เพราะแนวโน้มได้เปลี่ยนเป็นขาขึ้นเรียบร้อยแล้ว

ฉะนั้นเมื่อราคาไปถึงหรือสูงกว่า 340 USDT แล้ว ระบบก็จะส่งคำสั่งเข้าไปซื้อที่ราคา 341 USDT ให้ ซึ่งแปลว่าเราน่าจะได้เหรียญเลยทันที เพราะราคาที่ส่งสูงกว่าราคาที่คนตั้งขายขณะนั้น

ถ้าอยากต่อราคาอีกนิด เราอาจจะสั่งซื้อที่ช่อง Limit ที่ราคา 339 USDT ก็ได้ ถ้าราคาย่อลงมาหาก็ดีไป แต่ถ้าราคามันทะลุไม่กลับมารับแล้ว เราอาจจะไม่ได้เหรียญเลยก็ได้ คำสั่งซื้อนี้ก็จะกลายเป็นการสั่งแบบ Limit ค้างไว้ที่ 339 USDT ต่อไป

เทคนิคนี้เรียกว่าการ Follow buy ตามแนวโน้มของราคาที่น่าจะเป็นขาขึ้น ยอมซื้อแพงหน่อย แต่ซื้อตอนที่พุ่งขึ้นมาจริง ๆ แล้วนั่นเอง ก็จะไม่ทำให้เราตกรถในรอบนี้




Buy | OCO (One Cancels the Other)
การตั้งซื้อราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน พร้อมกับรอซื้อเมื่อราคาขึ้นไปถึงที่กำหนดไว้

Buy OCO order in Binance screenshot

เป็นการรวมคำสั่งซื้อแบบ Limit และ Stop-limit เข้าไว้ด้วยกัน แปลว่าเราอยากได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน และก็อยากจะตั้งซื้อเมื่อราคาขึ้นไปตามที่กำหนดในเวลาเดียวกัน เพื่อไม่ให้พลาดเมื่อเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้น (ไม่อยากตกรถนั่นเอง)

จากตัวอย่าง ราคาล่าสุดที่ 334.80 USDT

เราต้องการซื้อ BNB ที่ราคา 330 USDT (ช่อง Price) ถ้าราคาลงมาถึงเราก็จะได้ราคานี้ไปทันที และระบบจะยกเลิกการตั้งรอซื้อที่ 341 USDT เมื่อราคาทะลุ 340 USDT ให้เอง

ในขณะเดียวกัน ถ้าราคาไม่ลงมาหาที่ 330 USDT แต่วิ่งทะลุ 340 USDT ขึ้นไป (ช่อง Stop) ซึ่งเป็นจุดที่เราตีเส้นไว้แล้วว่าน่าจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ระบบก็จะส่งคำสั่งซื้อที่ 341 USDT ให้ (ช่อง Limit) ซึ่งก็จะได้ของเลย และจะยกเลิกคำสั่งรอซื้อที่ 330 USDT ให้เอง

จำง่าย ๆ ว่าคือการดักซื้อทั้งสองฝั่งไม่ว่าราคาจะขึ้นหรือลง ลงมาก็ถือว่าได้ของถูกไป หรือถ้าราคาวิ่งขึ้นไปไกลก็จะไม่ตกรถนั่นเอง เมื่อได้ทางไหนแล้วระบบก็จะยกเลิกอีกทางให้ ไม่ต้องห่วงว่าจะได้สองรอบ




Sell | Limit
การตั้งขายราคาที่อยากได้สูงกว่าราคาปัจจุบัน

Sell limit order in Binance screenshot

จากตัวอย่าง เราต้องการขาย BNB 5 เหรียญที่ราคา 336 USDT แปลว่าเราต้องไปต่อแถวก่อน แล้วรอคนมาซื้อที่ราคานี้เท่านั้น ใช้วิธีนี้เพื่อที่จะได้ราคาดีที่สุด

เพราะไม่ได้เท่านี้ฉันไม่ขาย 😏




Sell | Market
การเทขายเหรียญตามจำนวนที่ต้องการทั้งหมดในทันที

Sell limit order in Binance screenshot

จากตัวอย่าง เราต้องการขาย BNB 5 เหรียญโดยไม่สนใจราคา จึงไม่มีช่องราคาให้เรากรอกเลยด้วยซ้ำ

ถ้ากดขายเราก็จะขาย 5 BNB เสร็จทั้งหมดทันที โดยราคาที่ขายจนขายได้ครบจะเป็น

ราคา 334.37 USDT x 0.0177 เหรียญ
ราคา 334.34 USDT x 2.0000 เหรียญ
ราคา 334.33 USDT x 1.9521 เหรียญ
ราคา 334.31 USDT x 0.2948 เหรียญ
ราคา 334.30 USDT x 0.7354 เหรียญ

สรุปเป็นราคาขายโดยเฉลี่ยที่ 334.3285 USDT จำนวน 5 เหรียญ

ซึ่งอาจจะได้เงินมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ อยู่ที่ความห่างของราคาแต่ละราคา และจำนวนเหรียญที่รับซื้อแต่ละราคา ณ วินาทีที่กด ซึ่งต้องระวังมาก ๆ เพราะถ้าราคาซื้อแต่ละราคาห่างกันมาก ๆ และจำนวนไม่พอจำนวนที่เราต้องการ เราก็จะขายได้ราคาที่ถูกลงไปมาก ๆ จนกว่าจะได้ครบ 😱

แบบนี้ก็คือการ "ปาทิ้ง" ในภาษาคนเล่นหุ้นนั่นเอง




Sell | Stop-limit
การตั้งขายเมื่อราคาลงไปถึงจุดที่กำหนดไว้

Sell limit order in Binance screenshot

จากตัวอย่าง ราคาล่าสุดอยู่ที่ 334.38 USDT

เราต้องการขาย BNB ที่ราคา 332 USDT (ช่อง Limit) ถ้าราคาทะลุ 332 USDT ลงมา (ช่อง Stop) เพื่อเป็นการ Stop loss โดยไม่ต้องนั่งเฝ้ารอกดขายเอง

ถ้าเรากดขายแบบ Limit ธรรมดาที่ 332 USDT เราก็จะขายเหรียญได้เลยทันที เพราะราคาที่ส่งมันต่ำกว่าราคาซื้อของคนแรกที่ราคา 334.32 USDT ซึ่งเรายังไม่ได้อยากขายตอนนี้

สมมติว่าเราตีเส้นไว้แล้วว่าถ้าราคาลงมาทะลุ 332 USDT เมื่อไหร่ก็จะเปลี่ยนเป็นขาลง และเราไม่อยากถือต่อแล้ว

ฉะนั้นเมื่อราคาลงไปถึงหรือต่ำกว่า 332 USDT แล้ว ระบบก็จะส่งคำสั่งเข้าไปขายที่ราคา 332 USDT ให้ทันที

ถ้าอยากต่อราคาอีกนิด เราอาจจะสั่งขายที่ช่อง Limit ที่ราคา 333 USDT ก็ได้ ถ้าราคาเด้งกลับขึ้นไปหาก็ดีไป แต่ถ้าราคามันทะลุลงไปไม่กลับมาแล้ว เราอาจจะขายไม่ได้เลยก็ได้ คำสั่งขายนี้ก็จะกลายเป็นการสั่งแบบ Limit ค้างไว้ที่ 333 USDT ต่อไป

เทคนิคนี้เรียกว่าการ Stop loss โดยไม่ต้องรอเฝ้าหน้าจอ เมื่อแนวโน้มของราคาเปลี่ยนเป็นขาลงตามที่เราคาดการณ์ไว้

หรือถ้าเราซื้อมาได้มาตอนราคาต่ำกว่านี้ เราก็ตั้ง Take profit ไว้ก่อนบางส่วนก็ได้ ถ้าราคาดีดกลับขึ้นไปต่อได้ก็ยังมีของให้รอปล่อยได้อีก 😋




Sell | OCO (One Cancels the Other)
การตั้งขายราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน พร้อมกับรอขายเมื่อราคาลงไปถึงที่กำหนดไว้

Sell limit order in Binance screenshot

เป็นการรวมคำสั่งขายแบบ Limit และ Stop-limit เข้าไว้ด้วยกัน แปลว่าเราอยากขายราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน และจะตั้งขายเมื่อราคาลงไปตามที่กำหนดในเวลาเดียวกัน เพื่อเป็นการตัดขาดทุนเมื่อแนวโน้มกลายเป็นขาลง

จากตัวอย่าง ราคาล่าสุดอยู่ที่ 334.51 USDT

เราต้องการขาย BNB ที่ราคา 340 USDT (ช่อง Price) ถ้าราคาขึ้นมารับเราก็จะได้ขายราคานี้ไปทันที และระบบจะยกเลิกการตั้งรอขายที่ 332 USDT ให้เอง

ในขณะเดียวกัน ถ้าราคาไม่ขึ้นมารับที่ 340 USDT แต่วิ่งทะลุ 332 USDT ลงไป (ช่อง Stop) ซึ่งเป็นจุดที่เราตีเส้นไว้แล้วว่าจะเปลี่ยนเป็นขาลง ระบบก็จะส่งคำสั่งขายที่ 332 USDT ให้ (ช่อง Limit) และจะยกเลิกคำสั่งรอขายที่ 340 USDT ให้เอง

จำง่าย ๆ ว่าคือการดักขายทั้งสองฝั่งไม่ว่าราคาจะขึ้นหรือลง ขึ้นมาก็ถือว่าขายได้ราคาดีไป หรือถ้าราคาลงไปลึก ๆ หนัก ๆ ก็จะได้ตัดขาดทุนทัน ไม่เข้าเนื้อไปมากกว่านี้

ขายได้ทางใดทางหนึ่งแล้วระบบก็จะยกเลิกอีกทางให้ ไม่ต้องห่วงว่าจะได้สองรอบ ✌️




สรุปว่าการส่งราคาซื้อขายนั้นมีผลต่อกำไร/ขาดทุนเป็นอย่างมาก ถ้าเราใช้ได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ ก็จะทำให้เราได้เปรียบมากขึ้น ทำตามวินัยได้มากขึ้น เพราะการใช้อารมณ์ตัดสินจะไม่เป็นผลดีต่อการลงทุนในระยะยาว

เมื่อเราซื้อแล้ว เราจะตั้งขายตามแผนไว้เลยทันทีก็ได้ โดยตั้งราคาเป้าหมายที่อยากจะขายและราคาตัดขาดทุนในคราวเดียวกันด้วยการใช้วิธี Sell - OCO

หรือถ้าได้กำไรมาระดับหนึ่งแล้ว ก็ตั้งขายแบบ Stop-limit เอาไว้ล็อกกำไรไม่ให้น้อยกว่าที่กำหนดได้เช่นกัน

ถ้าไม่ตั้งเอาไว้ ตื่นมาเช้าอีกวันอาจจะกำไรหายและกลายเป็นขาดทุนเลยก็เป็นได้ เพราะโลกแห่งการลงทุนในคริปโตนี้โหดร้ายมาก ๆ การใช้เครื่องมือที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็อาจจะเปลี่ยนชีวิตเราให้ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ ใครจะไปรู้...



อ่านบทความอื่น ๆ

เปอร์เซ็นเทรดส์ไม่ใช่ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือผู้ให้คำแนะนำทางการเงินใด ๆ ไม่ได้นำเสนอหรือให้คำแนะนำใด ๆ เกี่ยวกับการลงทุน การเงิน กฎหมาย และภาษี การซื้อขายคริปโตเคอเรนซีมีความเสี่ยงสูง เปอร์เซ็นเทรดส์จะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ อันเนื่องมาจากข้อมูลในเว็บไซต์นี้และแอปพลิเคชันทุกช่องทางของเปอร์เซ็นเทรดส์

บทความอื่น ๆ ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจและทำ Arbitrage ได้ดีขึ้น

มาศึกษา ทำความเข้าใจ และค้นพบเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำ Arbitrage กัน